วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ขยับกาย คลายปวดข้อรูมาตอย



ไขข้อข้องใจรูมาตอยด์
โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่รุนแรง และอาจทำให้พิการได้ โรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า และส่วนใหญ่จะพบในช่วงอายุ 20-50 ปี
สาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรัง ของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกายพร้อมกัน ร่วมกับมีการอักเสบของพังผืด เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีการตอบสนองอย่างผิดปรกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจว่า เนื้อเยื่อข้อปรกติเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงสร้างกระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมขึ้น และส่งผลให้ข้ออักเสบ ซึ่งอาจจะเรียกอีกอย่างได้ว่า แพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune)
สังเกตอาการ
อาการของโรคนี้ จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อย ไป เริ่มจากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ชาปลายมือปลายเท้า โดยเฉพาะเวลาที่ร่างกายกระทบกับอากาศเย็นๆ หลังจากนั้นจะปวดเมื่อยตามตัวและข้อต่างๆ แล้วจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น โดยข้อที่เริ่มมีการอักเสบก่อน ได้แก่ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเข่า ข้อศอก ต่อมาจะเป็นข้อไหล่ ส่วนข้อศอกจะปวดพร้อมกันทั้งสองข้าง และข้อจะบวมแดงร้อน นิ้วมือนิ้วเท้าจะบวม ต่อมาอาการอักเสบจะลุกลามไปทุกข้อทั่วร่างกาย
อาการปวดข้อจะมีลักษณะเฉพาะคือ ข้อแข็งขยับลำบาก มักจะเป็นมากในเวลาที่อากาศหนาวเย็น หรือในตอนเช้า พอสายๆ อาการจะทุเลา เข้าใจว่าความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อแรงดันภายในข้อที่เสื่อม โดยอาจไปบีบรัดปลายประสาทที่โผล่ออกมา
อาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวันและมากขึ้นๆ เป็นแรมเดือนแรมปี โดยมีบางระยะอาจทุเลาไปได้เอง แต่จะกลับมีอาการกำเริบรุนแรงขึ้นอีก ขณะมีความเครียดหรือขณะตั้งครรภ์ ถ้าข้ออักเสบเรื้อรังอยู่หลายปี ข้อจะแข็งและพิการ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการซีด ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง
วิธีดูแลตัวเอง

1.
นอกจากจะบำบัดรักษาด้วยการใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยควรรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมไปด้วย เช่น การใช้น้ำร้อนประคบ การแช่หรืออาบน้ำอุ่น ซึ่งแนะนำให้ทำในช่วงเช้าประมาณ 15 นาที

2.
ต้องเคลื่อนไหวข้อ และฝึกกายบริหารเป็นประจำทุกวัน อย่าอยู่นิ่งๆ เพราะยิ่งอยู่นิ่ง ข้อยิ่งแข็งฝืดและขยับยากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรฝึกกายบริหารในท่าต่างๆ ท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยทำให้ข้อลดความฝืดและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

3.
ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาชุดกินเอง เพราะแม้จะช่วยให้อาการทุเลาได้ แต่ก็อาจเกิดโทษจากยาสเตียรอยด์ หรือยาอันตรายอื่นๆ ที่ผสมอยู่ในยาชุด

4.
ควรรู้สมดุลร่างกายของตัวเอง ว่าเมื่อใดควรพักข้อที่อักเสบ และเมื่อใดควรให้ข้อนั้นออกกำลังกาย จะช่วยให้รับมือกับโรคได้ดีขึ้น เช่น เมื่อข้อเกิดการอักเสบรุนแรงขึ้น ให้หยุดการออกกำลังบริเวณข้อทันที และเริ่มออกกำลังใหม่เมื่อการอักเสบลดลงแล้ว

5.
การออกกำลังกายในสภาพไร้น้ำหนัก เช่น ว่ายน้ำ เป็นวิธีดีที่ที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ

6.
การนวด ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้ทุเลาลงได้ ส่วนการใช้ยาทาถูนวดต่างๆ ที่ใช้สำหรับแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ยาหม่อง จะช่วยให้หายปวดได้ชั่วคราว เช่นเดียวกับการใช้ยาแก้อักเสบในรูปครีม นวดบริเวณรอบๆ ข้อที่มีการอักเสบ ก็จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบได้ชั่วคราวเช่นกัน
ห่างไกลรูมาตอยด์ด้วยอาหาร
มีข้อเสนอแนะว่า การได้รับอาหารที่มีสารต้านออกซิเดชั่นในปริมาณเล็กน้อย ได้แก่ ธาตุซีลีเนียม วิตามินซี วิตามินอี และวิตามินเอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้ ดังนั้นอาหารประจำวันควรมีผัก และผลไม้สดในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้ได้รับวิตามินซีและเบต้าแคโรทีน
ส่วนอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินอี ได้แก่ น้ำมันพืช ถั่วเปลือกแข็ง ผลอะโวคาโด และเมล็ดทานตะวัน อาหารที่มีซีลีเนียม ได้แก่ ปลาที่มีไขมันมาก ธัญพืช และไข่ นอกจากนี้ปลาที่มีไขมันมากหรือน้ำมันปลา ยังมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่อาจช่วยลดการอักเสบภายในร่างกายด้วย
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด ส่วนแผนการรักษาโรคส่วนใหญ่จะผสมผสานหลายวิธีเข้าด้วยกัน ทั้งการใช้ยา การออกกำลังกาย การบำบัดด้วยความร้อนและความเย็น การพักผ่อน และบางรายอาจต้องใช้วิธีผ่าตัดด้วย แต่คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับป้องกันโรคนี้ คือการดูแลร่างกายให้แข็งแรงมีภูมิต้านทานที่ดีอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และที่สำคัญต้องหมั่นออกกำลังกายด้วยค่ะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น