การเกิดโรคฟันผุ มาจากปัจจัย 4 ประการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ แผ่นคราบจุลินทรีย์ อาหารประเภทแป้งน้ำตาล ตัวฟัน และเวลา โดยแบคทีเรีย ที่มีอยู่ตามปกติในช่องปาก จะทำปฏิกิริยากับคราบ (Plaque) ที่ติดค้างอยู่ตามซอกฟัน และผิวเคลือบฟัน ซึ่งเราขจัดออกไปได้ไม่หมด เกิดเป็นกรดขึ้น ซึ่งกรดสามารถทำลายผิวเคลือบฟัน ก่อให้เกิดโรคฟันผุขึ้นได้หาก pH ในปาก มีค่าต่ำกว่า 5.5 บ่อยๆ และเป็นเวลานานอาการการผุของฟัน จะเริ่มขึ้นที่ชั้นผิวเคลือบฟันก่อน โดยจะเห็นเป็นจุดดำเล็กๆ หรือเป็นเส้นดำ ตามร่องฟันด้านบดเคี้ยว หรือเนื้อฟันมีสีขาวขุ่นผิดปกติ ระยะนี้มักไม่พบอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันแต่อย่างใด ซึ่งการทำความสะอาดฟันที่ดี สามารถชลอการลุกลามของโรคฟันผุได้ แต่หากเราปล่อยไว้ไม่ดูแล ฟันผุลุกลามไปถึงขั้นเนื้อฟัน จะมีอาการเสียวฟัน เมื่อเคี้ยวอาหาร หรือเมื่อกระทบของเย็น บางครั้งอาจมีอาการปวดได้ แต่หากเรายังปล่อยทิ้งไว้ จนฟันผุลุกลามไป ถึงขั้นโพรงประสาทฟัน ซึ่งมีเส้นเลือดและเส้นประสาท จะทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น อาจถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับก็มี แม้ได้รับยาแก้ปวด บางครั้งก็อาจไม่ทุเลาอาการปวดได้ และถ้าผุลุกลามมาก อาจทำให้รากฟันอักเสบ และเป็นหนอง เหงือกบวม หรือแก้มบวมได้ ซึ่งระยะนี้ ไม่สามารถอุดฟันด้วยวิธีปกติทั่วไปได้ ต้องรักษาครองรากฟัน ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เวลารักษานาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย บางครั้งอาจต้องสูยเสียฟัน เนื่องจากผุลุกลามมาก ไม่สามารถเก็บรักษาฟันซี่นั้นไว้ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบด้านการบดเคี้ยว จะมีประสิทธิภาพลดลง และต้องใช้ฟันเทียม ซึ่งมีค้าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็นการป้องกันโรคฟันผุ เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษา และป้องกันได้ โดยวิธีการกินยา เมื่อมีฟันผุ ก็ต้องรักษาด้วยการอุดฟัน หรือถอนฟันเท่านั้น ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคฟันผุ เรามีวิธีปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ ดังนี้
1.
รักษาสุขภาพอนามัยช่องปากให้สะอาด ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ควรแปรงฟัน หลังรับประทานอาหารเสร็จทุกครั้ง หรือถ้าทำได้ไม่สะดวก ก็ใช้วิธีบ้วนน้ำแรงๆ หลายๆ ครั้ง
2.
รับประทานอาหารที่ดี และมีประโยชน์ต่อฟัน เช่น อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหาร ที่ส่งเสริมให้ฟันผุได้ง่าย
3.
ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุกๆ 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง
4.
ใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ และทำให้ฟันแข็งแรง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ร่วมกับการรับประทานยาน้ำ/ยาเม็ดฟลูออไรด์ (ในเด็ก) การอมน้ำยาฟลูออไรด์ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
ทพญ. โฉมไฉไล เอกจิตต์
แหล่งข้อมูล : Siriraj E-Public Library - www.si.mahidol.ac.t
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น