วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
หาหมอสูติ ที่ถูกใจได้อย่างไร
สำหรับคุณผู้หญิงแล้วการมีหมอสูติคู่ใจไว้สักคนเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตเลย เพราะว่าสุขภาพของผู้หญิงมีหลายเรื่องที่ต้องคอยใส่ใจดูแลเป็นพิเศษซับซ้อนกว่าผู้ชายมาก และมีหลายภาวะทางนรีเวชที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิงเริ่มกันตั้งแต่เริ่มเป็นสาวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ กระทั่งถึงวัยทอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปวดท้องประจำเดือน โรคทางสูตินรีเวช เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือเนื้องอกในอุ้งเชิงกรานที่ผู้หญิงยุคนี้เป็นกันมาก การมีซีสต์ที่เต้านม การตั้งครรภ์ที่ต้องมีหมอสูติคอยดูแล การเข้าสู่วัยเมโนพอส หรือที่สาหัสสำหรับผู้หญิงที่โชคไม่ดี ก็คือโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งของระบบสืบพันธุ์ และโรคกระดูกพรุนนั่นเอง ฯลฯ
แต่ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจคำว่า คุณหมอที่ถูกใจเสียก่อนว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงเท่านั้น ไม่ใช่คุณหมอที่แสนจะตามใจคนไข้ แต่หมายถึงคุณหมอที่ใส่ใจในสุขภาพของคุณอย่างจริงจัง มีประสบการณ์ ใส่ใจในการรักษา ตอบข้อซักถามของคุณอย่างเต็มใจและให้คำแนะนำและข้อมูลชัดเจน รวมทั้งเก็บข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ดี... แล้วเราจะหาหมอสูติ-นรีเวชที่ถูกใจไว้คอยดูแลเป็นที่ปรึกษาเราได้อย่างไร HealthToday มีข้อคิดมาแนะนำกัน...
เริ่มต้นหาหมอสูติ-นรีเวช กันดีกว่า
•
ข้อแนะนำแรกคือ คุณควรพบหมอสูติ-นรีเวชในขณะที่คุณยังมีสุขภาพดีอยู่ อาจจะเริ่มต้นด้วยการตรวจสุขภาพประจำปีรวมทั้งตรวจทางสูติ-นรีเวชไปพร้อมกันด้วย แล้วลอง follow up กับหมอท่านนั้นดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่เข้าสู่วัย 30 ปีขึ้นไป หรือหญิงที่แต่งงานแล้วควรจะเริ่มตรวจภายในและเต้านม การพบสูติแพทย์ในขณะที่ยังมีสุขภาพดี มีข้อดีที่ว่าหากคุณเคยพบแพทย์มาก่อน แล้ววันหนึ่งเมื่อคุณเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคทางสูติ-นรีเวชขึ้นมาคุณสามารถไปหาหมอที่คุณถูกใจได้ท่วงทัน ไม่ต้องเสียเวลาในการสืบค้นว่าจะไปหาหมอคนไหนดี
•
ค้นหารายชื่อหมอจากหลายๆ แหล่ง เช่น ขอคำแนะนำจากญาติมิตร เพื่อนฝูง ใครว่าคุณหมอท่านไหนดี คุณก็ควรจดชื่อ สถานที่ และตารางการออกตรวจของคุณหมอท่านนั้นๆ ไว้ แล้วเลือกท่านที่คุณสนใจที่สุด ลองไปขอตรวจสุขภาพดูก่อน นอกจากนี้วิธีที่มักจะไม่ค่อยผิดหวังคือถ้าคุณมีหมอประจำตัวด้านอื่นๆ ที่ดูแลคุณอยู่แล้ว คุณอาจขอคำแนะนำให้คุณหมอท่านนั้นแนะนำสูติแพทย์ที่ท่านรู้จักให้ก็น่าจะดี
ควรถามอะไรเมื่อไปรับการตรวจ
•
ในยามฉุกเฉินดิฉันจะมาพบคุณหมอได้ที่ไหน อย่างไร
•
คุณหมอออกตรวจที่โรงพยาบาลใดบ้าง ขอทราบตารางวัน เวลาที่ออกตรวจในแต่ละแห่งด้วย
•
จำเป็นต้องนัดล่วงหน้าทุกครั้งหรือไม่ หรือสามารถโทรศัพท์สอบถามปัญหา ขอคำแนะนำจากคุณหมอหรือพยาบาลทางโทรศัพท์จะสะดวกหรือไม่
•
หากคุณหมอไม่มาออกตรวจ ดิฉันสามารถพบหมอท่านไหนแทนได้บ้าง หรือจะฝากให้หมอท่านไหนดูแลแทน
•
ขอทราบข้อมูลว่าคุณหมอท่านที่คุณหาอยู่มีความชำนาญด้านใดเป็นพิเศษ เช่น บางท่านชำนาญด้านสูติ การตั้งครรภ์ บางท่านชำนาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก บางท่านชำนาญด้านนรีเวช บางท่านเชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช บางท่านเชี่ยวชาญด้านวัยทอง เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หากคุณทราบ คุณก็สามารถเลือกพบแพทย์ตามความต้องการที่เหมาะกับสุขภาพของคุณได้
ถามตัวเองหลังจากได้พบหมอแล้ว
•
คุณหมอและพยาบาลที่คุณได้พบมาอัธยาศัยไมตรีดีหรือไม่
•
ทุกคำถามที่คุณสงสัยได้รับคำตอบจากหมอหรือไม่
•
การเข้าตรวจครั้งนี้เป็นไปอย่างเร่งรีบหรือไม่
•
เห็นด้วยกับหลักการรักษาของหมอท่านนี้หรือไม่
•
สถานพยาบาลที่คุณไปหาหมอสะดวกต่อการเดินทางแค่ไหน ห่างไกลแค่ไหน อย่าลืมคำนึงถึงยามฉุกเฉินเผื่อไว้บ้าง โดยเฉพาะการจราจรบ้านเราไม่เป็นใจนักยามเร่งด่วน
ถ้าคุณประมวลผลแล้วเป็นที่พอใจ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิด คุณก็คงต้องมองหาหมอสูติคนอื่นๆ ต่อไป จนกว่าจะได้พบคนที่ถูกใจและดีที่สุดสำหรับตัวคุณเอง แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจว่าหมอคนไหนใช่สำหรับคุณ ก็ควรเปิดใจรับวิธีการและหลักการรักษาของหมอท่านที่คุณหาอยู่ให้ถึงที่สุดก่อน และอย่าลืมว่าหมอแต่ละท่านก็มีความชำนาญ ประสบการณ์ และสไตล์ต่างกัน ในขณะที่คนไข้แต่ละคนก็มีความต้องการต่างกัน ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการหาหมอแต่ละท่านนั้นคุณควรให้เวลาในการรักษาต่อเนื่อง พยายามสื่อสารและจูนกันให้ดีที่สุดกับหมอคนที่คุณหาอยู่ เพื่อที่จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดด้วย จำไว้ว่าสุขภาพสตรีโดยเฉพาะทางสูติ- นรีเวชไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยไปหาหมอ แต่คุณควรบรรจุไว้เป็นหนึ่งในแผนการตรวจสุขภาพประจำปีด้วยเลย เนื่องจากโรคของสตรีหลายๆ โรคหากตรวจพบแต่เนิ่นๆ และรีบรักษาก็มีโอกาสหายขาดได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ตลอดไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น