วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
อาหารเกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างไร
เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารที่เรารับประทานทุกวันนี้ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ท่านรู้หรือไม่ว่า อาหารบางชนิด ก็เกิดโทษอย่างที่ เราคาดไม่ถึงเหมือนกัน เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาจจะทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันที่หัวใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดในคนสูงอายุเท่านั้น ปัจจุบันเราพบภาวะไขมันสูง และมีโรคเส้นเลือดอุดตัน ในคนหนุ่มสาวได้เช่นกัน
เนื่องจากคนไทยเรายุคนี้ แนวโน้มของการรับประทานอาหาร ที่มีไขมันสูง จะมากขึ้นจากอิทธิพลของชาวตะวันตก จึงพบว่าคนไทยเรามี อัตราเสียชีวิตจาก โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันเพิ่มขึ้นไปด้วย
นอกจากนั้น ความอ้วนและการชอบรับประทานอาหารรสเค็มจัดเป็นประจำ ก็เป็นปัจจัยเสริมของ การเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้
เนื่องจากปัจจุบัน เรามีการศึกษาเรื่องไขมัน และโทษของมันมากขึ้น จึงอยากให้มาทำความรู้จักกับไขมันในเลือด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม (เพื่อสะดวกในการจำและนำไปใช้) ดังนี้
1.
ไขมันเลว (ถ้ามีปริมาณมากจะเป็นโทษต่อร่างกาย) ได้แก่ โคเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์, LDL (ต่อไปถ้าแพทย์ บอกว่า LDL ให้ฟัง คงเข้าใจได้ดีขึ้น) ไขมันอิ่มตัว (ในฉลากอาหาร, ฉลากข้างขวดน้ำมันพืชบางยี่ห้อ จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า SATURATED FAT. นั่นหมายถึงไขมันอิ่มตัวนั่นเอง) นอกจากนั้นก็มีไขมัน TFA (ไม่ต้องจำชื่อก็ได้ แต่ให้ทราบว่า, ถ้าไขมันที่ดี ของเราผ่านขบวนการ ทางอุตสาหกรรม หรือทางเคมี ก็จะทำให้เปลี่ยนเป็นไขมันเลว หรือ TFA ได้ เช่น ผ่านความร้อนสูงมาก เช่น การกลั่นน้ำมันพืช หรือเติมไฮโดรเจน ให้อาหารกรอบ เช่น คุ๊กกี้ขนมกรอบทั้งหลาย เป็นต้น)
2.
ไขมันดี เช่น HDL (คงได้ยินคุณหมอพูดกันบ่อยๆ) ไขมันไม่อิ่มตัว (UNSATURATED FAT) (ซึ่งรวมถึงไขมัน โอเมก้า 3 ด้วย), เลซิติน พวกนี้จัดเป็นไขมันดี ซึ่งจะช่วยป้องกัน โรคเส้นเลือดอุดตันที่หัวใจ และทำให้มีสุขภาพดี
เราควรรู้ค่าปกติของไขมันในเลือดบางตัว ที่เราสามารถตรวจวัดได้ ดังนี้
1.
โคเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) เป็น Cholesterol ทุกชนิดรวมกันค่าปกติ ไม่ควรเกิน 200 mg ถ้าสูง ต้องงด อาหารพวก ที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง, ไขมันสัตว์, เครื่องในสัตว์ (ถ้าอยากทราบว่าอาหารอะไรมี โคเลสเตอรอลประมาณเท่าไร ให้หาอ่านในหนังสือ เกี่ยวกับโภชนาการทั่วๆ ไปได้)
2.
โคเลสเตอรอล HDL. ซึ่งเป็นไขมันดี ค่ายิ่งสูงยิ่งดี, ถ้าต่ำกว่า 35 mg ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อ โรคเส้นเลือดอุดตันที่หัวใจ การสูบ บุหรี่, ภาวะอ้วน, ภาวะขาดอาหาร จะทำให้ HDL ต่ำลงได้ ส่วนการออกกำลังกายจะทำให้ HDL เพิ่มขึ้น การดื่มไวน์แดงจำนวนเล็กน้อย เป็นประจำพบว่าเพิ่มไขมัน HDL ได้ถึง 5-10%
3.
โคเลสเตอรอล LDL เป็นไขมันเลว ปกติไม่เกิน 130 mg ถ้าเกิน 160 mg จะมีความเสี่ยงต่อ โรคหัวใจเพิ่มขึ้น การควบคุมว่า จะเข้มงวดมากน้อยเพียงไร, ต้องกินยารักษาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามีโรคอย่างอื่น ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ร่วมอยู่ด้วยหรือไม่
4.
ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันเลวอีกชนิดหนึ่ง ถ้าสูงมากจะเกิดตับอ่อนอักเสบได้ หรือเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจได้ ค่าปกติไม่ควรเกิน 200 mg พบมากในอาหารพวกแป้ง, ของหวาน
ส่วนไขมันอิ่มตัวหรือไขมันไม่อิ่มตัวนั้น เราตรวจเลือดวัดออกเป็นตัวเลขไม่ได้ ต้องควบคุมปริมาณที่กินเข้าไป โดยต้องทราบว่า ควรกิน ไขมันพวกนี้มากน้อยแค่ไหน
ไขมันอิ่มตัวนั้น ไม่ควรกินมากกว่า 10% ของอาหารในแต่ละวัน ในฉลากอาหารมักจะเขียน เปอร์เซ็นต์ของไขมันอิ่มตัว ว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ ให้เราทราบ ไขมันอิ่มตัวพบมากในเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก, เบคอน, นม, เนย, นอกนั้นก็จะพบในมาการีน, กะทิ, น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันปาล์ม ไขมันอิ่มตัวนี้ จะไปแย่งที่ไขมันที่จำเป็นของร่างกาย ทำให้เราเจ็บป่วยได้
ไขมันไม่อิ่มตัว จะมีหลายชนิดที่สำคัญ และเรารู้จักกันดี คือ ไขมันโอเมก้า 3 และ DHA ซึ่งทั้ง 2 นี้ พบมากในน้ำมันปลา (คนละอย่าง กับน้ำมันตับปลา) กรดไขมันโอเมก้า 3 นี้ จะสามารถเปลี่ยนเป็นไขมันรูปอื่น ซึ่งทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมน ที่ทำให้เราเกิดความสบาย ป้องกันการบวมน้ำ บรรเทาอาการอักเสบ ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน เสริมภูมิต้านทาน, ลดความดัน ปลาที่มีน้ำมันปลาสูงนั้น จะเป็น ปลาที่คาว, ส่วนที่มีน้ำมันปลามาก คือ ส่วนหัวปลา, พุงปลา, หนังปลา
การปรุงอาหารด้วยการทอดปลา จะเสียน้ำมันปลาไปกับน้ำมันที่ทอดได้ การนึ่ง ต้ม จะดีกว่าการย่าง การกินปลา จะได้โคเลสเตอรอล ไปด้วย ฉะนั้นควรกินปลาอย่างน้อย 1 ขีด ต่อ 1-2 สัปดาห์
นอกเหนือจากอาหารดังกล่าวมาแล้ว อาหารพวกเส้นใย ละลายง่าย เช่น ข้าวโอ๊ต, ถั่วเหลือง, โปรตีนเกษตร, เต้าหู้, ข้าวกล้อง, มะนาว, ส้ม, แครอท พวกนี้จะช่วยลดไขมัเลวได้
ถ้าเราเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีโทษ ก็จะทำให้สุขภาพดี, ลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ลงได้ค่ะ
พญ. ญาณนุช เมตติกานนท์
แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 9 มีนาคม 2544
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น