คุณเคยรู้สึกตาแห้ง ตาพร่ามัว หรือฝืดเคืองตา ต้องกระพริบตาถี่ๆ คล้ายมีเศษผงเข้าตา จนทำให้มองภาพไม่ชัด หรือบางครั้ง มีขี้ตาออกมาเป็นเมือกเหนียวกันบ้างไหมคะ ถ้ามีแสดงว่าคุณกำลังมีอาการตาแห้งแล้วล่ะ
สำรวจสาเหตุของอาการตาแห้ง
ตาแห้ง เป็นอาการที่มีความผิดปกติของน้ำตา โดยปกติดวงตาของคนเรา จะมีปริมาณน้ำตาเพียงพอที่จะมาหล่อเลี้ยง หรือให้ความชุ่มชื้นกับดวงตา รวมถึงฉาบกระจกตา ทำให้การมองเห็นชัดเจน
ส่วนอาการตาแห้งเกิดจากการมีปริมาณน้ำตาน้อย หรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งน้ำตาที่ดีมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ไขมัน น้ำใส และเมือก หากส่วนประกอบ 1 ใน 3 ของน้ำตาขาดความสมดุลหรือไม่มีคุณภาพ จะทำให้ตาแห้งได้
อาการนี้เป็นได้ทุกเพศ แต่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และจะพบมากขึ้นตามวัย โดยเฉพาะในผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนที่ลดลง ทำให้สารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งน้ำตาก็ลดปริมาณลงไปด้วย นอกจากนี้ อาการดังกล่าวยังเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ ดังนี้
•
ภาวะที่ทำให้เส้นประสาทรับความรู้สึกที่ตาลดลง เช่น การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่มีคุณภาพ การผ่าตัดกระจกตาหรือเปลี่ยนกระจกตา การอักเสบของกระจกตาจากเชื้อเริม นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเป็นอัมพฤกษ์ที่ใบหน้า
•
โรคที่ผิดปกติทางภาวะภูมิคุ้มกัน (Autoimmune) เช่น โรค Sjogren's Syndrome ซึ่งมีอาการตาแห้ง ร่วมกับข้ออักเสบและปากแห้ง โรคข้อบางชนิด หรือโรคเอดส์
•
โรคบางชนิด ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบกับเยื่อบุตา เช่น กลุ่มอาการแพ้ยา อย่างสตีเวนจอห์นสัน (Stevens-Johnson) ริดสีดวงตา และเบาหวาน
•
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาคุมกำเนิด ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด
•
การทำงานของเปลือกตาบกพร่อง เช่น หลับตาไม่สนิท กะพริบตาน้อย เปลือกตาผิดรูป
•
สภาพแวดล้อม เช่น อยู่ในห้องปรับอากาศที่มีอากาศแห้ง หรือมีฝุ่นควัน ลม และแดดจ้า
•
อาชีพที่ต้องใช้สายตาจ้องเป็นเวลานาน เช่น พนักงานคอมพิวเตอร์ ช่างอ๊อกเหล็ก หรือยามที่เฝ้ากล้องวงจรปิด
แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลใจกันไปค่ะ เพราะผู้ที่มีอาการตาแห้งส่วนใหญ่มักเป็นในระดับไม่รุนแรง แค่ก่อความรำคาญใจ แต่ไม่ทำให้ตาบอดได้
เทคนิคเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
•
กระพริบตาถี่ๆ ในภาวะปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ 20 - 22 ครั้ง ทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดน้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าในขณะที่จ้อง หรือเพ่งตาค้างไว้นานกว่าปกติ เช่น เวลาที่เราอ่านหนังสือ ดูทีวีหรือจ้องคอมพิวเตอร์ จะทำให้เรากระพริบตาเพียง 8 - 10 ครั้ง น้ำตาก็จะระเหยออกไปมาก ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้น จึงควรพักสายตาระยะสั้นๆ โดยการหลับตา หรือกระพริบตาอย่างช้าๆ หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 2 - 3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง
•
ประคบดวงตาด้วยน้ำเย็น แช่ผ้าขนหนูผืนเล็ก 2 ผืนในน้ำเย็น หยิบขึ้นมา 1 ผืน บิดพอหมาดและพับทบเป็นผืนยาว วางปิดดวงตาไว้ทั้งสองข้างนานประมาณ 20 นาที หรือจนกว่าผ้าจะหายเย็น แล้วจึงใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งประคบ สลับกันไปมา จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาของคุณได้เช่นกัน
กินอาหารลดอาการตาแห้ง
•
กล้วย กินกล้วยทุกวัน เพราะกล้วยมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งจะทำงานร่วมกับโซเดียมเพื่อรักษาภาวะสมดุลน้ำในร่างกาย และช่วยให้ดวงตาของคุณชุ่มชื้นอยู่เสมอ
•
ถั่วประเภทนัท (Nut) ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะวอลนัต ควรรับประทานวันละประมาณ 1 กำมือ เพราะถั่วประเภทนี้มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว หรือกรดไขมันโอเมก้า-3 สูง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำตา
•
ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่าหรือปลาแซลมอน เพราะมีกรดไขมันที่จำเป็นหรือโอเมก้า-3 ด้วย
•
น้ำมันปอ (Flexseed oil) หรือน้ำมันเมล็ดลินิน จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมกรดไขมันโอเมก้า-3 อย่างเพียงพอ โดยรับประทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ หรือผสมในซีเรียลแล้วรับประทานก็ได้
ปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม
•
หลีกเลี่ยงการทำงานในบริเวณที่มีแสงจ้าและลมแรง เพราะจะทำให้ตาแห้งเร็ว ควรใส่แว่นกันแดดช่วย โดยเลือกแว่นขนาดใหญ่ที่มีขอบด้านข้าง เพื่อช่วยลดการระเหยของน้ำตา
•
หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศแห้ง และเย็นจัด เช่น ห้องปรับอากาศ ตลอดจนหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละอองและควันต่าง ๆ เช่น บุหรี่ ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองตา
•
อย่าเป่าลมร้อนจากเครื่องเป่าผมเข้าตาโดยตรง รวมทั้งปรับไม่ให้เครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมเป่าโดนตาหรือใบหน้าโดยตรง
•
พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนไม่พออาจทำให้ตาแห้งและตาแดงช้ำ เนื่องจากเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงดวงตาบวม การพักผ่อนให้สมดุลจึงดีต่อดวงตาที่สุด
นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 239
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น