วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

5 อาการปวดยอดฮิต

5 อาการปวดยอดฮิต

อาการปวดต่างๆ หลายคนมองเป็นเรื่องเล็กๆ เพียงซื้อยาแก้ปวดตามร้านหมอตี๋มาทานแล้วก็หาย แต่ในความเป็นจริงอาจร้ายแรงกว่าที่คิด โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการปวดบ่อยจนเรื้อรังยาวนาน ล่าสุด โรงพยาบาลพญาไท ได้ให้คำแนะนำถึงอาการปวดยอดฮิตของคนไทย 5 อันดับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า อาการปวดส่วนใหญ่ของคนไทยเกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งการกินอาหาร และการทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากการทำงานตอนนี้มีมากขึ้น และน่าเป็นห่วงหากอนาคตคนไทยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดย 5 อาการปวดประกอบด้วย

1."ปวดหัว" ปวดไมเกรน เป็นอาการปวดที่พบบ่อย หากมีอาการปวดมากเรื้อรัง ทำให้รบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน บางกรณีมีอาการเตือนด้านการรับรู้ความรู้สึก เช่น การมองเห็นแสง ชาแขนขา และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ถึงแม้อาการเหล่านี้รักษาไม่หายขาดแต่การรักษาโดยใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ลดความตึงเครียดจะช่วยทำให้อาการเหล่านี้บรรเทาลง

นพ.วีรชัย กล่ำน้ำผึ้ง ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวว่า อาการไมเกรน มีอาการปวดหัวข้างเดียว พบได้ 15% ของประชากรทั่วไป พบมากในช่วงอายุ 20-25 ปี เพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า โดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือน ส่วนใหญ่มีอาการปวด 4- 72 ชั่วโมง หากมีอาการปวดเรื้อรังมากกว่านี้ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ด้านการรักษาที่ได้ผล แพทย์ต้องทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความตึงเครียดโดยให้สมุดบันทึกอาการปวดและปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดแก่คนไข้ เพื่อวิเคราะห์ถึงแนวทางแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดปัจจัยเหล่านั้นขึ้น

2."ปวดคอ" นพ.ธีรศักดิ์ พื้นงาม หัวหน้าศูนย์สมองและระบบประสาทไขสันหลัง เครือโรงพยาบาลพญาไท อธิบายว่า กระดูกสันหลังส่วนคอมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ตัวหมอนรองกระดูกสันหลังคอและตัวกระดูกสันหลังคอต้องรับแรงบิดและแรงกดอยู่เรื่อยๆ ยิ่งคนที่มีอายุมากขึ้น ข้อต่อกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังจะเสื่อมสภาพภายในข้อต่อ ทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ก่อให้เกิดอาการปวดคอ ปวดสะบัก บางครั้งลามไปถึงหลังหู

"คนไข้ที่พบบ่อยส่วนใหญ่เป็นคนทำงานในสำนักงานหน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าคนที่ทำงานใช้แรงงาน เนื่องจากวางตำแหน่งเครื่องใช้สำนักงานไม่เหมาะสม จึงทำให้หมอนรองกระดูกบริเวณส่วนคอต้องทำงานหนัก ดังนั้นควรปรับเก้าอี้ให้สูงพอดีกับหน้าจอ โดยผู้ใช้ไม่ต้องก้มหรือหันบ่อยๆ"

บางกรณีเป็นมากอาจมีหินปูนหรือกระดูกงอกมาเกาะทำให้กดทับเส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอ ทำให้ปวดไปที่แขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ตลอดจนมีอาการมือขาชา ไม่มีแรงหยิบจับหรือเดินไม่ถนัด ถ้ามีการกดทับเส้นประสาทมากขึ้นทำให้เกิดอาการเดินลำบาก เดินเซ ปัสสาวะ อุจจาระลำบาก

อีกกรณี หมอนรองกระดูกสันหลังคอที่เสื่อมอาจกดทับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เกิดอาการมึนงง เวียนศีรษะ เสียงดังในหู ปวดกระบอกตา อาการเหล่านี้จะรุนแรงเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของคอ แนวทางรักษา ในกลุ่มที่มีอาการกดทับเส้นประสาทไม่มาก แพทย์รักษาโดยการให้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดหรืออาจมีการดึงคอร่วมด้วย ส่วนกลุ่มที่มีอาการกดทับเส้นประสาทมาก ต้องรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อนำหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนหรือกระดูกที่งอกกดทับเส้นประสาทออก บางครั้งต้องใช้เหล็กดามร่วมด้วย

3."ปวดข้อ" ผศ.พ.อ. นพ.จิระเดช ตุงคะเศรณี แพทย์ประจำศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า โรคเข่าเสื่อมพบบ่อยในคนไทย เนื่องจากบริเวณปลายกระดูกที่มาชนกันเราเรียกว่าข้อที่มีกระดูกอ่อนเคลือบอยู่ กระดูกอ่อนมีหน้าที่หล่อลื่น ทำให้ไม่มีอาการเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหว แต่พออายุมากขึ้นกระดูกอ่อนจะสึกกร่อนหรือมีลักษณะที่บางขึ้น ทำให้กระดูกจริงที่มีเส้นประสาทอยู่ภายในเมื่อยามขยับจะรู้สึกเจ็บปวด

แนวทางแก้ไขคนไข้ต้องลดน้ำหนักตัวให้มีความพอดี และออกกำลังกายโดยการหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักบริเวณข้อเท้า เช่น การปั่นจักรยาน โดยปรับอานให้มีลักษณะพอดีกับการยืดเท้า ขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงการยืนเดินหรือเดินขึ้นบันไดบ่อยๆ ไม่ควรยกของหนัก นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิเพราะทำให้ต้องงอเข่ามากเกินไป

4."ปวดท้อง" ผศ.นพ. ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ หัวหน้าศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงและศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 3 เล่าว่า อาการปวดท้องมีสาเหตุมาจากอวัยวะภายในช่องท้องและสาเหตุจากอวัยวะภายนอกช่องท้อง โดยสามารถแบ่งตามบริเวณการปวดได้ดังนี้

1.ชายโครงขวาคือตับและถุงน้ำดี มักกดเจอก้อนแข็งร่วมกับอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

2.ใต้ลิ้นปี่ คือกระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับและกระดูกลิ้นปี่ หากปวดประจำเวลาหิวหรืออิ่มอาจเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะ ถ้าปวดรุนแรงร่วมกับคลื่นไส้อาเจียนอาจเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ

3.ชายโครงขวาคือม้าม ซึ่งมักคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณนี้

4.บั้นเอวขวาคือ ท่อไต ลำไส้ใหญ่ ถ้าปวดร่วมกับ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดอาจเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ ถ้าปวดร้าวถึงต้นขาเป็นนิ่วในท่อไต ถ้าปวดร่วมกับปวดหลัง มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น เป็นกรวยไตอักเสบ

5.รอบสะดือ คือลำไส้เล็ก มักพบในโรคท้องเดินหรือไส้ติ่งอักเสบ

6.ท้องน้อยขวาคือ ไส้ติ่งท่อไต และปีกมดลูก ปวดเกร็งเป็นระยะร้าวมาถึงต้นขาอาจเป็นก้อนนิ่วในกรวยไต ถ้าปวดเสียดตลอดเวลาแล้วเจ็บมักเป็นไส้ติ่งอักเสบ หากปวดร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น อาจเพราะปีกมดลูกอักเสบ

7.ท้องน้อย คือกระเพาะปัสสาวะและมดลูก หาก ปวดเวลาถ่ายปัสสาวะเป็นผลจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือนิ่ว ในรายที่ปวดเรื้อรังในหญิงที่ไม่มีบุตรอาจเป็นเนื้องอกในมดลูก

8.ท้องน้อยซ้ายคือปีกมดลูกและท่อไต ปวดร่วมกับมีไข้หนาวสั่น ตกขาว อาจเป็นเพราะมดลูกอักเสบ และหากมีอาการถ่ายอุจจาระผิดปกติ อาจเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ

อาการปวดยอดฮิต ประเภทสุดท้ายที่มักพบบ่อย คือ "ปวดใจ" โดย นพ.ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ รองหัวหน้าศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า อาการเจ็บแน่นหน้าอกนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยมักแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดร้าวที่คอ แขนซ้ายหรือกรามร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกผิดปกติ อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกาย พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรค คือ มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็น อายุมาก ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง สูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน วิธีแก้ไขหมั่นออกกำลังกายอย่างพอดี และลดพฤติกรรมเสี่ยง รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ พร้อมกับตรวจสุขภาพเป็นประจำ

5 โรคปวดดังที่กล่าวมา แม้จะยังไปประสบในวันนี้ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ หมั่นตรวจเช็กร่างกายอยู่เสมอก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น